วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดปทุมธานี

สถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดปทุมธานี


วัดสิงห ตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต. สามโคก อ. สามโคก ภายในบริเวณวัดเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปองค์สำคัญ คือ หลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสมัยอยุธยา มีพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุศิลปมอญ นอกจากนี้ ชาวบ้านรอบ ๆ วัด ยังคงมีการทำอิฐมอญแบบเก่าเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวให้เห็นอยู่ทั่วไปอีกด้วย

วัดเจดีย์ทอง ตั้งอยู่ที่ ต. คลองควาย อ. สามโคก ทางฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในวัดมีเจดีย์ทรงรามัญ อายุประมาณ 160 ปี ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูป ซึ่งสร้างด้วยหยกขาว ปางมารวิชัย เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป

วัดบางหลวง ตั้งอยู่ที่ ต. บางหลวง อ. เมือง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 3 กิโลเมตร วัดมีสิ่งที่สำคัญ คือ พระอุโบสถทรงไทยโบราณ ภายในมีพระประธานปางมารวิชัยและภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติ นอกจากนี้ ยังมีเจดีย์มอญ 2 องค์ คือทรงชเวดากอง และมูเตา ซึ่งวัดนี้ใช้ประกอบศาสนพิธีของชาวบ้านมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน

วัดเจดีย์หอย ตั้งอยู่ที่ ต.บ่อเงิน อ.ลาดหลุมแก้ว มีการค้นพบซากเปลือกหอยนางรมยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จมอยู่ในดินเป็นเวลาหลายร้อยปี เป็นเปลือกหอยนางรมขนาดใหญ่จำนวนมหาศาลมีเป็น แห่งแรกในประเทศไทย ทางวัดได้นำมาจัดทำเป็นรูปเจดีย์หอยจำลองแบบมาจากประเทศพม่า เป็นที่สนใจของประชาชน นักธรณีวิทยา นักประวัติศาสตร์และชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

วัดหงส์ปทุมาวาส (วัดมอญ) ตั้งอยู่ที่ ต.บางปรอก อ.เมือง วัดมีเจดีย์ทรงรามัญ จำลองแบบมาจากเจดีย์จิตตะกอง วิหารจำลองได้แบบมาจากกรุงหงสาวดี หลังคาเป็นชั้น ๆ มีลวดลายที่สวยงามมาก อุโบสถเป็นอุโบสถสร้างใหม่ตามสถาปัตยกรรมของไทย มองเห็นช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ได้แต่ไกล ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวพุทธประวัติ และยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนมาก

พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ  ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองหนึ่ง ประกอบด้วย กลุ่มอาคารพิพิธภัณฑ์ 9 อาคาร มีทางเดินเชื่อมต่อกัน จัดแสดงเรื่องราวทางการเกษตรผ่านเทคโนโลยีทันสมัย และหุ่นจำลอง ครอบคลุมเนื้อหางานการเกษตรทุกด้าน ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน ป่าไม้ ประมง ปศุสัตว์ ระบบนิเวศ ส่วนด้านนอกมีเรือนเพาะปลูก แปลงนาสาธิต และจำลองสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกภูมิภาคของไทย นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรม ศูนย์ประชุมสัมมนาด้านวิชาการเกษตร


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น